อาหารในตู้เย็น ทำยังไง ให้อยู่ได้นาน พร้อมฝ่าวิกฤตไวรัส COVID-19 ในช่วงที่เก็บตัวอยู่ที่บ้าน ลดภาระการออกไปข้างนอกบ่ยอๆ ทำการ Social Distancing เลี่ยงการติดเชื้อโควิด วิธีเก็บอาหารในตู้เย็น ไม่ว่าจะเป็น เนื้อสัตว์ ผัก ไข่ หากรู้วิธีเก็บแช่แข็งอย่างถูกต้อง จะเก็บได้นานเป็นเดือนๆ เพื่อยืดอายุอาหารให้เก็บไว้กินได้นาน ๆ จนแทบไม่ต้องออกจากบ้านเลย พร้อมกับการจัดเก็บอาหารให้เป็นระเบียบ
วิธีเก็บอาหารในตู้เย็น ในตู้เย็นให้ถูกจุด ควรแช่ยังไงดี ?
ตู้เย็น มีทั้งช่องฟรีซ ลิ้นชัก และชั้นวางเต็มไปหมด ตรงไหนว่างก็เก็บอาหารเข้าไป หากทำแบบนี้อยู่ไม่ดีแน่ เพราะอาหารบางชนิดก็ไม่เหมาะที่จะแช่ช่องฟรีซ วันนี้ขอนำวิธีเก็บอาหาร วิธีแช่แข็งอาหารสด ในตู้เย็นมาฝาก ว่าตำแหน่งต่าง ๆ ในตู้เย็นนั้นเหมาะกับการเก็บอาหารประเภทใดบ้างหรือไม่เหมาะกับการเก็บอาหารประเภทใด เพื่อทำให้อาหารสามารถเก็บอาหารไว้กินได้นานขึ้น ทั้งยังทำให้ตู้เย็นเป็นระเบียบอีกด้วย
1. ช่องฟรีซ
อาหารที่เหมาะกับช่องฟรีซ ได้แก่ อาหารประเภทที่ต้องแช่แข็ง อาหารสด หรืออยู่ในรูปของอาหารแช่แข็งมาอยู่แล้ว อย่างเช่น น้ำแข็ง ผลไม้แช่แข็ง เนื้อสด น้ำซุป หรืออาหารที่ต้องการเก็บไว้กินนาน ๆ ได้แก่ แผ่นแป้ง พาสต้าซอส ไข่ หรือขนมปัง (อย่างหลังเนี่ยสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 3 เดือนเลยทีเดียว) ด้วยการใส่ไว้ในบรรจุภัณฑ์ที่มีฝาปิดแน่นหนาหรือแพ็กในถุงพลาสติกให้เรียบร้อยแล้วค่อยนำไปแช่ในช่องฟรีซ ซึ่งนอกจากจะง่ายต่อการจัดเก็บ ยังช่วยประหยัดพลังงานด้วย ส่วนของที่ไม่แนะนำให้แช่ไว้ในช่องฟรีซก็คือ ภาชนะที่เป็นแก้วหรือของแตกง่าย
2. ชั้นวางหลังประตู
เป็นส่วนที่อุ่นที่สุดของตู้เย็น ฉะนั้นอาหารที่เหมาะจะนำมาเก็บไว้ในบริเวณนี้ ควรเป็นอาหารประเภทที่ไม่เน่าบูดง่าย เช่น เครื่องปรุง น้ำผลไม้นานาชนิด หรืออาหารอื่น ๆ ที่สามารถเก็บไว้ในบริเวณที่อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงได้ง่ายแบบนี้ ส่วนอาหารที่ไม่ควรนำมาเก็บไว้ก็คือ ผลิตภัณฑ์จากนมวัวและไข่ แม้ว่าบนฉลากจะระบุวันที่ไว้ชัดเจนว่าสามารถเก็บไว้ได้นาน แต่หากอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ ก็ทำให้บูดเร็วขึ้นเพราะก่อให้เกิดแบคทีเรีย
3. ชั้นวางด้านล่าง
เป็นส่วนที่มีอุณหภูมิเย็นที่สุดของตู้เย็น (ไม่รวมฟรีซ) สามารถป้องกันการกระจายตัวของแบคทีเรียจากบริเวณอื่น ๆ ไม่ให้มาก่อตัวอาหารได้ เหมาะสำหรับอาหารสดต่าง ๆ ได้แก่ เนื้อสด ไข่ โยเกิร์ต ชีส และนมสด แต่ทั้งหมดนี้ควรเก็บไว้ในบรรจุภัณฑ์ที่มาฝาปิดมิดชิด แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรนำอาหารมาแช่มากเกินไปจนแน่น เพราะควรมีช่องว่างให้ลมเย็นสามารถไหลเวียนได้อย่างทั่วถึงด้วย ไม่อย่างนั้นจะทำให้ความเย็นไม่สม่ำเสมอและทำให้อาหารบูดได้ง่าย
4. ชั้นวางด้านบน
บริเวณนี้มีอุณหภูมิปานกลาง ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป เหมาะสำหรับแช่อาหารพร้อมทาน อาหารสำเร็จรูปที่ไม่จำเป็นต้องนำไปปรุงต่อ หรือผักสดกับผลไม้บางชนิด ได้แก่ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี ผลิตภัณฑ์ไส้กรอก และเนื้อ แต่ควรเก็บไว้ในบรรจุภัณฑ์ก่อนนำไปแช่ ได้แก่ ถุงหรือกล่องพลาสติก เพื่อป้องกันเนื้อจากน้ำที่หยดลงมาจากช่องฟรีซและอื่น ๆ ที่ทำให้เนื้อเน่าเสีย
5. ลิ้นชักแช่ผัก
บริเวณนี้จะช่วยกักเก็บความชื้น ผักและผลไม้สด ใหม่ได้นาน แต่อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าบริเวณนี้จะใช้เก็บผัก-ผลไม้ได้ทุกชนิดเสมอไป เพราะหากเป็นผลไม้ที่ผ่านการบ่มมาแล้วควรเก็บแยกไว้ต่างหาก เพราะหากนำมาเก็บรวมไว้กับผัก-ผลไม้สด จะทำให้อาหารเหล่านี้มีใบเหลือง เหี่ยวเร็ว หรือแตกหน่อออกใบใหม่ได้ นอกจากนี้ควรนำไปล้างให้สะอาดก่อนกิน แต่ถ้าหากกินไม่หมดควรทำให้สะเด็ดน้ำหรือแห้งก่อนนำไปแช่อีกครั้งเพื่อป้องกันความชื้น หรือเก็บใส่กล่องพลาสติกก่อนนำไปแช่ ก็จะช่วยให้ ผักผล ไม้ยังคงสด กรอบ และยืดอายุอาหารไว้ได้นานขึ้น
6. บนตู้เย็น
แนะนำว่าไม่ควรวางของสด ผักผลไม้ หรืออาหารชนิดใดก็ตาม ควรรีบนำของหรืออาหารเหล่านั้นออกจากบริเวณดังกล่าวโดยเร็ว เนื่องจากตู้เย็นจะปล่อยไอออกมาและทำให้มีความร้อนบริเวณรอบ ๆ ตู้เย็น ซึ่งส่งผลให้อาหารที่นำไปวางไว้เสียเร็วขึ้น
แม้ว่าตู้เย็นจะมีไว้เพื่อเก็บรักษาอาหาร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเหมาะกับอาหารทุกชนิด หากเป็นอาหารที่ซื้อมาเพื่อกินทันทีก็ไม่จำเป็นต้องแช่ ยกเว้นอาหารที่ซื้อมาไว้เก็บหลาย ๆ วันมากกว่า ส่วนจะนำไปเก็บตรงไหนถึงจะเหมาะ ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารแต่ละประเภทว่าเหมาะกับ วิธีเก็บอาหารในตู้เย็น อย่างไหน ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั่นเอง